วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

โครงงานอาชีพ

ในการเรียนในภาคเรียนที่ 1 ของนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีเนื้อหาที่สำคัญ ที่นักเรียนจะต้องศึกษาโครงงาน คือ
1.ความหมายของโครงงาน
2.ประเภทของโครงงาน
3.ขั้นตอนการทำโครงงาน
4.การประเมินโครงงาน

รายละเอียดเรียงลำดับดังต่อไปนี้ คือ

1. ความหมายของการจัดกิจกรรมแบบโครงงาน

การจัดกิจกรรมแบบโครงงาน หมายถึง การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เลือก และสร้างกระบวนการเรียนรู้ เรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างลุ่มลึกด้วยตนเอง โดยใช้วิธีการและแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย และสามารถนำผลการเรียนรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้ (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. 2545 ค : 4)
อุดมศักดิ์ ธนะกิจรุ่งเรือง และคณะ (2543 : 17) ให้ความหมายของโครงงานไว้ว่าเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ศึกษา ค้นคว้า และลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ตามความสามารถ ความถนัด และความสนใจ โดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หรือกระบวนการอื่นใด ไปใช้ในการศึกษาหาคำตอบในเรื่องนั้น ๆ โดยมีครูผู้สอนคอยกระตุ้น แนะนำ และให้ คำปรึกษาแก่ผู้เรียนอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การเลือกหัวข้อที่จะศึกษา ค้นคว้า ดำเนินการวางแผนกำหนดขั้นตอนการดำเนินงาน และการนำเสนอผลงาน โดยทั่วไปการทำโครงงานสามารถทำได้ทุกระดับ การศึกษาซึ่งอาจทำเป็นรายบุคคล หรือเป็นกลุ่มก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของโครงงานอาจเป็นโครงงานเล็ก ๆ ที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน หรือเป็นโครงงานใหญ่ที่มีความยาก และซับซ้อนขึ้นก็ได้
กล่าวโดยสรุปการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกเรื่องที่ต้องการจะศึกษาด้วยความสนใจและนำเสนอผลการศึกษาตามวิธีการของตนอย่างเป็นระบบ เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ฝึกให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะ และสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ ระเบียบวิธีดำเนินการที่เป็นระบบใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ จุดประสงค์หลักของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน ต้องการกระตุ้นให้นักเรียนรู้จักสังเกต ตั้งคำถาม ตั้งสมมติฐาน รู้จักวิธีแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง เพื่อตอบคำถามที่ตนอยากรู้ สรุป และทำความเข้าใจกับสิ่งที่ค้นพบ
โครงงานอาจจัดในเวลาเรียนหรือนอกเวลาเรียนก็ได้

ลักษณะสำคัญของโครงงาน
การเรียนรู้ของนักเรียนเกิดจากประสบการณ์ตรง ที่ได้รับจากการปฏิบัติจริง ฝึกให้แก้ปัญหาที่สงสัย โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ด้วยกระบวนการ และวิธีการ ที่เป็นขั้นตอนนักเรียนยังสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์อื่นได้ ทักษะที่ได้รับจะติดตัวนักเรียนนานและยั่งยืนกว่าการอ่านจากตำรา สิ่งที่นักเรียนจะได้จากการเรียนรู้ โดยโครงงานพอสรุปได้ ดังนี้
(จิราภรณ์ ศิริทวี. 2542 : 34-35)
1. ความรู้ในเนื้อหาวิชานั้น ๆ
2. ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
3. ทักษะการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
4. ความสามารถในการถ่ายโยงการเรียนรู้ผ่านกระบวนการแก้ปัญหา
5. เจตคติที่ดีต่อการศึกษา
6. คุณสมบัติทางบวกอื่น ๆ ได้แก่ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความเชื่อมั่นใจ
ในตนเอง ความมีวินัย ความรับผิดชอบ การทำงานร่วมกับผู้อื่น
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2542 ค : 4) ได้สรุปลักษณะสำคัญของโครงงานไว้ ดังนี้
1. เป็นเรื่องที่นักเรียนสนใจ สงสัย ต้องการหาคำตอบ
2. เป็นการเรียนรู้ที่มีกระบวนการ มีระบบ ครบกระบวนการ
3. เป็นการบูรณาการการเรียนรู้
4. นักเรียนใช้ความสามารถหลายด้าน
5. มีความสอดคล้องกับชีวิตจริง
6. มีการศึกษาอย่างลุ่มลึก ด้วยวิธีการ และแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย
7. เป็นการแสวงหาความรู้ และสรุปความรู้ด้วยตนเอง
8. มีการนำเสนอโครงงาน ด้วยวิธีการที่เหมาะสม ในด้านกระบวนการและผลงานที่ค้นพบ
9. ข้อค้นพบ สิ่งที่ค้นพบ สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้

2. ประเภทของโครงงาน

ประเภทของโครงงาน แบ่งตามลักษณะของการจัดการเรียนการสอน ในสาระการเรียนรู้
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 สามารถแบ่งโครงงานได้ 2 ประเภท คือ
(วิชชุกร มาลาวิทยา. 2543 : 32)
1. โครงงานตามสาระการเรียนรู้ เป็นโครงงานที่บูรณาการความรู้ ทักษะ คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมในกลุ่มสาระการเรียนรู้เป็นพื้นฐาน ในการกำหนดโครงงานและการปฏิบัติ
2. โครงงานตามความสนใจ เป็นโครงงานที่ผู้เรียนกำหนดขั้นตอนตามความถนัดความสนใจ และต้องการ โดยนำเอาความรู้ ทักษะ คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมจากกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ มาบูรณาการ กำหนดเป็นโครงงานและการปฏิบัติ
อุดมศักดิ์ ธนกิจรุ่งเรือง (2543 : 17) จัดประเภทโครงงานลักษณะของกิจกรรมเป็น
4 ประเภท คือ
1. ประเภทสำรวจรวบรวมข้อมูล
2. ประเภทการทดลอง
3. ประเภทการพัฒนาหรือประดิษฐ์
4. ประเภททฤษฎี หลักการหรือแนวคิด
วิมลศรี สุวรรณรัตน์ และมาฆะ ทิพย์คีรี (2543 : 7-11) ได้แบ่งโครงงานออกเป็น
4 ประเภท เช่นเดียวกันคือ
1. ประเภทสำรวจ
โครงงานประเภทนี้ ไม่กำหนดตัวแปร การเก็บรวบรวมข้อมูลอาจเป็นการสำรวจในภาคสนาม หรือในธรรมชาติ หรือนำมาศึกษาในห้องปฏิบัติการ นอกจากนั้นการสำรวจรวบรวมข้อมูลอาจบ่งชี้ที่มาของปัญหา เพื่อนำไปศึกษาหรือทดลอง
2. ประเภททดลอง
โครงงานที่มีลักษณะการออกแบบทดลอง เพื่อศึกษาผลของตัวแปรต้น เพื่อควบคุมตัวแปรอื่น ๆ โครงงานประเภทนี้นักเรียนจะเริ่มตั้งแต่กำหนดคำถามที่ต้องการคำตอบตั้งสมมติฐานกำหนดแหล่งข้อมูลที่จะศึกษา ปฏิบัติการข้อมูล เพื่อตอบคำถามรวบรวมข้อมูลนำมาสรุปเป็นองค์ความรู้ขั้นตอนที่ปฏิบัติเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างสมบูรณ์ การทำโครงงานประเภทการทดลองควรดำเนินการตามขั้นตอน ต่อไปนี้

2.1 กำหนดปัญหา
2.2 ตั้งจุดประสงค์
2.3 ตั้งสมมติฐาน
2.4 ออกแบบการทดลอง
2.5 ดำเนินการทดลอง
2.6 รวบรวมข้อมูลที่ได้จากการทดลอง
2.7 วิเคราะห์ข้อมูลหรือแปรผล
2.8 สรุปผลการทดลอง
3. ประเภทพัฒนาหรือประดิษฐ์
โครงงานประเภทนี้ เป็นการประดิษฐ์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือ อุปกรณ์เพื่อใช้สอยต่าง ๆ สิ่งประดิษฐ์นี้อาจคิดขึ้นมาใหม่ หรือปรับปรุงจากของเดิม มีการกำหนดตัวแปรที่จะศึกษา และทดสอบประสิทธิภาพของชิ้นงานด้วย
4. ประเภททฤษฎีหลักการ หรือแนวคิด
โครงงานประเภทนี้ เป็นการใช้จิตนาการของตนเองมาอธิบายหลักการ หรือแนวคิดใหม่ ๆ ซึ่งอธิบายในรูปของสูตร ผู้ทำโครงงานจะต้องมีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ เป็นอย่างดี

ส่วนประกอบของโครงงาน
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2542 ข : 44) ได้เสนอแนวทางการทำโครงงาน ไว้ว่า นักเรียนที่จะทำโครงงานวิทยาศาสตร์ จะต้องเขียนเค้าโครงเสนอครูที่ปรึกษา ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1. ชื่อโครงงาน
2. ชื่อผู้ทำโครงงาน
3. ชื่อที่ปรึกษา
4. ที่มา และความสำคัญของโครงงาน
5. วัตถุประสงค์ของการศึกษาค้นคว้า
6. สมมติฐาน (กรณีโครงงานทดลอง)
7. วิธีดำเนินงาน (วิธีการ เครื่องมือ ระยะเวลา)
8. ประโยชน์ หรือผลที่คาดว่าจะได้รับ
9. เอกสารอ้างอิง

จิราภรณ์ ศิริทวี (2542 : 36 ) กล่าวว่า การเขียนรายงานโครงงาน เป็นรูปแบบหนึ่งของการเสนอผลงานที่นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าตั้งแต่ต้นจนจบโครงงานที่สมบูรณ์ควรมีส่วนประกอบ ดังนี้
1. ชื่อโครงงาน
2. ชื่อผู้ทำโครงงาน/โรงเรียน/พ.ศ. ที่จัดทำ
3. ชื่อครูที่ปรึกษา
4. บทคัดย่อสั้น ๆ ที่บอกเค้าโครงอย่างย่อ ๆ ประกอบด้วย เรื่อง/วัตถุประสงค์
วิธีการศึกษา และสรุปผล
5. กิตติกรรมประกาศ แสดงความขอบคุณบุคคล หรือหน่วยงานที่มีส่วนให้ความช่วยเหลือให้งานสำเร็จ
6. วัตถุประสงค์ของการศึกษาค้นคว้า
7. ที่มา และความสำคัญของโครงงาน
8. สมมติฐานของการศึกษาค้นคว้า
9. วิธีดำเนินการ
10. สรุปผลการศึกษาค้นคว้า
11. อภิปรายผล/ประโยชน์/ข้อเสนอแนะ
12. เอกสารอ้างอิง

3. ขั้นตอนการทำโครงงาน

กรมวิชาการ (2544 ข : 30) ได้เสนอขั้นตอนการทำโครงงานไว้ดังนี้
1. คิดและเลือกปัญหาที่จะศึกษา นักเรียนจะต้องเป็นผู้กำหนดปัญหา แนวคิดและวิธีการจะใช้แก้ปัญหาตามความสนใจ ความอยากรู้ของตนเอง ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในเรื่องเวลา ความรู้ ความสามารถ และแหล่งข้อมูลที่มี
2. วางแผนในการทำโครงงาน นักเรียนจะต้องวางแผนการทำงานในทุกขั้นตอนอย่างละเอียด เพื่อป้องกันความผิดพลาดและสับสน ขั้นตอนดังกล่าวประกอบด้วย
2.1 การกำหนดปัญหา และขอบเขตของการศึกษา
2.2 การกำหนดวัตถุประสงค์ แนวคิด วิธีการที่จะมาใช้แก้ปัญหา สมมติฐานและนิยามเชิงปฏิบัติการ
2.3 การวางแผนรวบรวมข้อมูล และการค้นคว้าเพิ่มเติม
2.4 กำหนดวิธีดำเนินงาน ได้แก่ แนวทางการศึกษาค้นคว้า วัสดุอุปกรณ์
ที่ต้องใช้การออกแบบการทดลอง การควบคุมตัวแปร การสำรวจ และรวบรวมข้อมูล การประดิษฐ์คิดค้น การวิเคราะห์ข้อมูล การกำหนดระยะเวลา ในการทำงานแต่ละขั้นตอน
3. ลงมือทำโครงงาน นักเรียนจะต้องปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้ในข้อ 2 และถ้ามีปัญหาให้ขอคำแนะนำ ปรึกษาครู หรืออาจารย์ที่ปรึกษา
4. การเขียนรายงาน นักเรียนจะต้องเสนอผลงานการศึกษาค้นคว้าเป็นเอกสาร อธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจ และทราบถึงปัญหาวิธีการ และผลสรุปที่ได้จากการศึกษา พร้อมอภิปรายผลและให้ข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นแนวทางในการที่จะศึกษาค้นคว้าต่อไป

แนวทางการเขียนรายงาน
การเขียนรายงานโครงงาน เป็นการเสนอผลงานที่ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้ามาโดยตลอดจนสำเร็จสมบูรณ์ (วิชชุกร มาลาวิทยา. 2543 : 36-38) ได้เสนอหัวข้อแนวทางการเขียนรายงานโครงงานไว้ดังนี้
1. ปกหน้าประกอบด้วย
1.1 ชื่อโครงงาน
1.2 ชื่อผู้จัดทำ
1.3 อาจารย์ที่ปรึกษา
1.4 สถานที่ศึกษา (ชื่อโรงเรียน ที่อยู่โดยละเอียดที่ติดต่อทางไปรษณีย์ พร้อมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ และหมายเลขโทรสาร ถ้ามี)
1.5 วัน เดือน ปี ที่จัดทำ
2. สารบัญ
2.1 สารบัญเรื่อง
2.2 สารบัญภาพ
2.3 สารบัญตาราง
3. สารบัญกราฟ บทคัดย่อ (เขียนเกี่ยวกับโครงงานโดยย่อ เช่น วัตถุประสงค์ วิธีดำเนินการ และสรุปผลของการศึกษา)
4. กิตติกรรมประกาศ อาจเขียนคำขอบคุณผู้ที่ได้ช่วยเหลือไว้ในรายงานนี้ด้วยซึ่งนิยมเขียนไว้หลังบทคัดย่อ หรือหัวข้อสุดท้ายหลังข้อเสนอแนะ อย่างไรก็ตามลำดับก่อนหลังของหัวข้อต่าง ๆ ที่เสนอไว้นี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องตายตัว บางคนอาจนิยมสลับหัวข้อ หรือยุบรวบบางหัวข้อเข้าด้วยกัน หรืออาจแจกแจงหัวข้อละเอียดขึ้นก็ย่อมกระทำได้
5. เนื้อเรื่องโครงงาน ประกอบด้วย
5.1 บทที่ 1 บทนำ
5.1.1 ที่มาและความสำคัญของโครงงาน (กล่าวถึงความเป็นมาเหตุจูงใจหรือปัญหาที่ศึกษา)
5.1.2 ปัญหาที่ศึกษาหรือจุดมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า (ระบุจุดประสงค์ของการศึกษา หรือปัญหาที่ต้องการศึกษาให้ได้คำตอบ
5.1.3 สมมติฐานของการศึกษาค้นคว้า (ข้อความแสดงการคาดคะเนคำตอบล่วงหน้าก่อนทำการศึกษา โดยพื้นฐานจากการศึกษาจากเอกสาร และจากข้อมูลอื่น ๆ)
5.1.4 ตัวแปรที่เกี่ยวข้อง
5.1.4.1 ตัวแปรต้น
5.1.4.2 ตัวแปรตาม
5.1.4.3 ตัวแปรควบคุม
5.1.5 ขอบเขตของการศึกษาค้นคว้า (ระบุให้ชัดเจนว่างานนี้ทำกว้างแค่ไหน)
5.1.6 นิยามคำศัพท์ (ให้เขียนศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพื่อให้ผู้อื่น เข้าใจตรงกัน เช่น ความเข้มข้นของสสารเป็นเท่าไร,สลบ แปลว่าอะไร มีอาการอย่างไร)
5.2 บทที่ 2 เอกสารและหลักการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา (กล่าวถึงข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ศึกษา จากเอกสาร ตำรา วารสาร หรือสิ่งพิมพ์อื่น ๆเพื่อให้ได้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการ ที่ต้องนำมาใช้ และเป็นแนวทางของการตั้งสมมติฐาน)
5.3 บทที่ 3 วิธีดำเนินการ
5.3.1 วัสดุและอุปกรณ์ (ระบุว่าใช้วัสดุ และอุปกรณ์ใดบ้างในจำนวนเท่าใดและปริมาณเท่าใด เป็นต้น)
5.3.2 วิธีดำเนินการ (อธิบายวิธีการในการศึกษาค้นคว้าทุกขั้นตอน โดยละเอียด เช่น การออกแบบ การทดลอง วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล)
5.4 บทที่ 4 ผลการศึกษา (ระบุผลที่ได้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้มา)
5.5 บทที่ 5 สรุปและอภิปรายผลการศึกษา เป็นการตอบปัญหาที่ศึกษา โดยสรุปความรู้ที่ได้จากการศึกษาปัญหาว่าได้คำตอบอะไร แสดงความคิดเห็นต่อผลการศึกษาที่ได้ความหมายว่าอย่างไร ผลที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับสมมติฐานที่กำหนดไว้หรือไม่อย่างไร เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปของปัญหาที่ศึกษา
6. ข้อเสนอแนะ (กล่าวถึงข้อคิดเห็นที่ได้จากการทำโครงงานเช่นจะนำผลของ
การศึกษาไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง และข้อคิดเห็นสำหรับการศึกษาค้นคว้า เรื่องในลักษณะ
แบบนี้ต่อไปในอนาคต)
7. เอกสารอ้างอิง (ระชื่อหนังสือ เอกสารตำราต่าง ๆ ที่ใช้ศึกษาค้นคว้าในการทำโครงงาน ควรเขียนให้ถูกต้องหลักการเขียนเอกสารอ้างอิงด้วย)

การนำเสนอโครงงาน
วิชชุกร มาลาวิทยา (2543 : 35) เสนอแนวทางให้ผู้เรียนที่ทำโครงงานได้เสนอผลงานเป็นการเผยแพร่ผลงาน ซึ่งมีการนำเสนอหลายวิธี ดังนี้
1. บรรยายประกอบแผ่นใส/สไลด์
2. บรรยายประกอบแผงโครงงาน
3. จัดนิทรรศการ
- การจัดเสนอผลงานภายในชั้นเรียน
- การจัดนิทรรศการภายในโรงเรียนเป็นภายใน
- การจัดนิทรรศการประจำปีของโรงเรียน
- การส่งผลงานเข้าร่วมในงานแสดง หรือประกอบภายนอกโรงเรียน

4. การประเมินโครงงาน

การประเมินโครงงานเป็นการประเมิน เพื่อศึกษาข้อบกพร่อง ผลสำเร็จของงาน ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงาน และสิ้นสุดการปฏิบัติงานแล้ว การประเมินผลมักจะประเมินตามจุดประสงค์ และการปฏิบัติงานจะต้องทำอย่างต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ และให้ผลย้อนกลับต่อผู้ปฏิบัติงาน เพื่อต้องการให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนรู้ 3 ด้าน คือ ด้านพุทธิพิสัย จิตพิสัย และด้านทักษะพิสัย
การประเมินผลโครงงานเป็นหัวใจของการเรียนรู้ ที่สะท้อนภาพความสำเร็จของ
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันประเมินผลว่า กิจกรรมที่ทำไปนั้น บรรลุจุดประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่อย่างไร ได้ใช้วิธีการแก้ไขอย่างไร ผู้เรียนได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง
จากการทำโครงงาน ดังรายละเอียด ต่อไปนี้

แนวทางการประเมินโครงงาน
อุดมศักดิ์ ธนะกิจรุงเรือง และคณะ (2543 : 20-23) การประเมินผลโครงงานควรใช้การประเมินผลตามสภาพที่แท้จริง (Automatic Assessment) ซึ่งมีลักษณะ ดังนี้
1. ทำไปพร้อม ๆ กับการเรียนของผู้เรียน
2. ยึดพฤติกรรมของผู้เรียนที่แสดงออกเป็นสำคัญ
3. เน้นการพัฒนาตนและการประเมินผลตนเอง
4. ให้ความสำคัญในการพัฒนาจุดเด่นของผู้เรียน
5. มีการเก็บข้อมูลระหว่างปฏิบัติได้ทุกบริบททั้งที่โรงเรียน บ้าน ชุมชนและสามารถสะสมคะแนนอยู่บนพื้นฐานของเหตุการณ์ในชีวิตจริง เอื้อต่อการเชื่อมโยงการเรียนรู้สู่ชีวิตจริง
6. เน้นคุณภาพของผลงานซึ่งเป็นผลจากการบูรณาการความรู้สู่ความสามารถของผู้เรียน
7. เน้นการวัดความสามารถในการคิดระดับสูง เช่น ใช้ข้อมูลในการสังเคราะห์ อธิบาย สรุป เป็นกฎทั่วไป ตั้งสมมติฐาน สรุปและแปรผล เป็นต้น
8. วัดปฏิสัมพันธ์เชิงบวก มีการชื่นชม ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความสุข สนุกสนาน
ไม่เครียด
9. สนับสนุนการมีส่วนร่วม และรับผิดชอบร่วมกัน

วิธีการประเมินผล
1. การสังเกต เป็นวิธีการประเมินพฤติกรรมที่สามารถทำได้ทุกเวลาและสถานการณ์ ทั้งแบบมีและไม่มีเครื่องมือในการสังเกต
2. การสัมภาษณ์ การสอบถาม อาจมีลักษณะเป็นทางการหรือสัมภาษณ์ สอบถามขณะปฏิบัติโครงงานก็ได้
3. วัดความรู้ความสามารถ ควรเป็นแบบสอบถามปลายเปิด เพื่อดูความเชื่อมโยงระหว่างความรู้ความเข้าใจ กับสิ่งที่ได้เพิ่มเติมจากประสบการณ์ในการปฏิบัติโครงงานการรายงาน จะเป็นการเขียนรายงาน หรือประสบการณ์ในการทำโครงงานได้ เพื่อให้ผู้เรียนได้ประเมินตนเองจากการที่ได้พูด หรือเขียนบรรยายสะท้อนความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึกนึกคิดติดตามแนวทางการเรียนรู้ที่ผ่านประสบการณ์ ขณะปฏิบัติกิจกรรมตามโครงงาน
4. แฟ้มผลงาน เป็นการเก็บรวบรวมผลงานที่มีความโดดเด่นในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง ที่รวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อแสดงความก้าวหน้า ความสำเร็จในเรื่องใดเรื่องหนึ่งทั้งนี้ เพื่อเป็นการติดตามพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนได้เป็นอย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาโครงงาน
อย่างไรก็ตามการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมโครงงาน คงไม่ยุติลงหลังจากการนำเสนอเท่านั้นหากแต่การเรียนรู้อย่างมีความหมายนี้ จะถูกเชื่อมต่อด้วยการสะท้อนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์เป็นลูกโซ่ไปเกี่ยวต่อความรู้ใหม่ ๆ ที่ควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้ดำเนินการค้นหาความรู้ไปอย่างต่อเนื่องลึกซึ้ง โดยกำหนดเป็นเรื่องหรือปัญหาใหม่ ที่อาจเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องจากเรื่องเดิม เพื่อการหาคำตอบที่ยังสงสัยอยู่ หรือเป็นเรื่องใหม่ ที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน แต่เป็น
อีกมิติหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่กว้างขวางลุ่มลึกยิ่งขึ้นมีไหวพริบปฏิภาณยิ่งขึ้น

วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2552

หน่วยการเรียน/ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังวิชา ง43101

หน่วยการเรียน/ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี รหัสวิชา ง43101
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

************************************
หน่วยที่ 1 สามัญทัศน์เกี่ยวกับอาชีพ
1.1 นักเรียนสามารถอธิบายความหมายของงานอาชีพได้
1.2 นักสามารถอธิบายข้อแตกต่างของแต่ละอาชีพได้
หน่วยที่ 2 ลักษณะและประเภทของอาชีพ
2.1 นักเรียนสามารถจัดกลุ่มงานอาชีพแต่ละประเภทได้
หน่วยที่ 3 ความหมายความสำคัญ และประเภทของโครงงาน
3.1 นักเรียนสามารถบอกความหมายของโครงงานได้
3.2 นักเรียนสามารถอธิบายความสำคัญของโครงงานได้
3.3 นักเรียนสามารถอธิบายลักษณะของโครงงานแต่ละประเภทได้
หน่วยที่ 4 การเขียนเค้าโครงโครงงาน
4.1 นักเรียนสามารถบอกส่วนประกอบของโครงงานได้
4.2 นักเรียนสามารถเขียนเค้าโครงโครงงานได้
หน่วยที่ 5 การรวบรวมข้อมูล
5.1 นักเรียนสามารถสืบค้น รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงงานที่ทำได้
หน่วยที่ 6 การเขียนรายงานโครงงาน
6.1 นักเรียนสามารถเขียนรายงานโครงงานได้
หน่วยที่ 7 การนำเสนอโครงงาน
7.1 นักเรียนสามารถจัดทำสไลด์คอมพิวเตอร์นำเสนอโครงงานได้
หน่วยที่ 8 การสรุปองค์ความรู้ที่เกิดจากการทำโครงงาน
8.1 นักเรียนสามารถสรุปองค์ความรู้จากการทำโครงงานได้
************************************************
อัตราส่วนคะแนนในการเรียน
ระหว่างปี : ปลายปี = 80 : 20
1. คะแนนระหว่างปี
1.1 สอบเก็บคะแนนรายจุดประสงค์ 10 คะแนน
-รายจุดประสงค์ที่เก็บคะแนน คือ ข้อที่ 1-10 สอบจุดละ 10 ข้อ = 1 คะแนน
1.2 คะแนนปฏิบัติงาน / ชิ้นงาน 60 คะแนน
- การต่อไม้แบบต่าง ๆ 3 ชิ้นงาน ๆ ละ 5 คะแนน = 15 คะแนน
- งานเขียนแบบ 4 ชิ้นงาน ๆ ละ 5 คะแนน = 20 คะแนน
- งานจดจุดประสงค์ 1 คะแนน
- การเข้าเรียน 2 คะแนน
- ส่งงานตรงเวลา 2 คะแนน
- รายงาน 2 ชิ้นงาน ๆ ละ 10 คะแนน = 20 คะแนน
1.3 สอบกลางปี 10 คะแนน
2. คะแนนสอบปลายปี 20 คะแนน
- จุดประสงค์ที่สอบปลายปี คือ ข้อที่ 11-15 ข้อละ 4 คะแนน = 20 คะแนน